การนำเข้าทางอากาศ ทำยังไง มีขั้นตอนอะไรบ้าง
หัวข้อ

การนำเข้าทางอากาศ เป็นหนึ่งในช่องทางการนำเข้าสินค้าและพัสดุที่รวดเร็วที่สุดสำหรับทั้งผู้ประกอบการธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และบุคคลทั่วไป ที่ต้องการส่งสินค้าไปยังประเทศปลายทางในกรณีที่เร่งด่วน หรือต้องการประหยัดเวลาในการขนส่ง แต่แน่นอนว่า การนำเข้าทางอากาศ ก็อาจจะมีขั้นตอน และข้อมูลบางอย่างที่จำเป็นต้องรู้และควรทราบก่อนจะเริ่มต้นการนำเข้า อย่างเช่นพิธีการนำเข้าทางอากาศ และเอกสารที่จำเป็นต้องใช้ ที่หากมีข้อผิดพลาดบางอย่าง ก็อาจจะส่งผลเสียต่อทั้งเวลา ธุรกิจ และค่าใช้จ่ายต่างๆ ของเราโดยใช่เหตุ
เพื่อให้ทุกคนเข้าใจการนำเข้าทางอากาศมากขึ้น เราจะมาดูกันว่า การนำเข้าทางอากาศ มีขั้นตอนอะไรบ้างที่เราควรรู้ และแต่ละขั้นตอนมีวิธีจัดการ หรือจำเป็นต้องใช้ข้อมูลอะไรกันบ้าง เพื่อการขนส่งให้ธุรกิจของคุณราบรื่นและรวดเร็วที่สุด
การนำเข้าทางอากาศ คืออะไร?
การนำเข้าทางอากาศ (Air Freight Importing) คือวิธีการขนส่งและนำเข้าสินค้าผ่านทางอากาศ โดยการใช้เครื่องบินเป็นยานพาหนะในการขนส่ง โดยมีข้อดีคือการขนส่งที่ใช้เวลาน้อย ส่งสินค้าถึงประเทศเป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว และมีความปลอดภัยสูงที่สุด เนื่องจากเป็นการเดินทางบนอากาศ ทำให้ยากต่อการถูกดักปล้นระหว่างขนส่ง ทำให้การนำเข้าทางอากาศเหมาะสำหรับการขนส่งสินค้าที่ต้องการความรวดเร็ว หรือต้องการสินค้าในกรณีเร่งด่วน เช่น ผัก ผลไม้สด อาหาร ยา และยังรวมถึงสินค้ามูลค่าสูง ที่ต้องการความรวดเร็ว ปลอดภัย และหลีกเลี่ยงความเสียหายในระหว่างขนส่ง เช่น อะไหล่เครื่องจักร อัญมณี รถซูเปอร์คาร์ และของสะสมอื่นๆ เป็นต้น รวมถึงเป็นช่องทางโลจิสติกส์ในการนำเข้าและส่งออกสินค้า จากประเทศที่ไม่มีพื้นที่ติดทะเลด้วย
การขนส่งทางอากาศแบบเคอร์รี (Air Courier) และการขนส่งทางอากาศแบบคาร์โก (Air Cargo) ต่างกันอย่างไร
ในการนำเข้าทางอากาศบางครั้ง ผู้ประกอบการบางคนอาจจะพบเจอรูปแบบการขนส่งทางอากาศจากชิปปิ้ง ทั้งแบบ Air Courier และแบบ Air Cargo ซึ่งทั้งสองแบบนั้นมีความหมายเหมาะกับการขนส่งต่างๆ ดังนี้
Air Courier
เป็นรูปแบบการขนส่งสินค้าทางอากาศแบบ Door-to-Door หรือก็คือ การส่งสินค้าถึงหน้าประตูบ้านหรือที่ของผู้รับ โดยรูปแบบการของส่งนี้จะไม่ต้องเดินพิธีการศุลกากรขาออก เพียงแค่มีสินค้าที่ต้องการส่ง และใบกำกับสินค้า (Invoice) ให้กับบริษัทขนส่งก็เพียงพอ ยกเว้นในกรณีที่สินค้ามีมูลค่ามากกว่า 500,000 บาทตามกฎของศุลกากรประเทศไทย ผู้ส่งจำเป็นต้องลงทะเบียน และดำเนินพิธีการศุลกากรขาออก พร้อมกับทำใบขนสินค้าขาออก (Export Entry) ด้วย
Air Courier จะเหมาะสำหรับการของส่งสินค้าทั่วไป ที่ไม่ใช้สินค้าอันตราย หรือจำเป็นต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ควบคุมอุณหภูมิ
Air Cargo
เป็นรูปแบบการขนส่งสินค้าทางอากาศแบบ Door-to-Port หรือส่งไปยังสนามบินปลายทาง โดยผู้ส่งจะต้องลงทะเบียนกับกรมศุลกากร และทำใบขนสินค้า (Goods Declaration) เพื่อเดินพิธีการศุลกากรขาออก และเตรียมสินค้าและเอกสารอื่นๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในการขนส่ง เช่น ใบกำกับสินค้า, ใบตราส่งสินค้าทางอากาศ (Air Waybill, AWB) และเอกสารอื่นๆ รวมถึงเมื่อสินค้าเดินทางถึงประเทศปลายทาง ก็จะต้องมีตัวแทนจากประเทศปลายทางเข้ามาดำเนินพิธีการนำเข้าทางอากาศขาเข้า เพื่อทำการเคลียร์สินค้าออกมาจากสนามบิน และจัดส่งไปยังผู้รับหรือคลังสินค้าปลายทาง
Air Cargo เหมาะสำหรับการขนส่งสินค้าจำนวนมาก หรือสินค้าพิเศษ เช่นสินค้าอันตราย, สินค้าที่ต้องควบคุมอุณหภูมิ รวมถึงสินค้าที่ต้องการเดินพิธีการศุลกากรเต็มรูปแบบ เป็นต้น
พิธี การนำเข้าทางอากาศ มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง
พิธีการนำเข้าทางอากาศนั้น จะเป็นการดำเนินการในระบบอิเล็กทรอนิกส์แบบไร้เอกสาร (e-Import) มีขั้นตอนดำเนินการต่างๆ ดังนี้
1. ผู้นำเข้าดำเนินการส่งข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้า
เมื่อสินค้าเดินทางถึงในประเทศแล้ว ผู้นำเข้าหรือตัวแทนจะต้องทำใบขนสินค้าขาเข้า (Import Entry) และเริ่มดำเนินพิธีการนำเข้าทางอากาศในระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อส่งข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากร โดยผู้นำเข้าสามารถส่งข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้าในระบบ e-Import ได้ 4 ช่องทาง ได้แก่
- ส่งข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้าด้วยตนเอง
- ให้ตัวแทนออกของ (Customs Broker) เป็นผู้ส่งข้อมูล
- ใช้บริการ เคาน์เตอร์บริการ (Service Counter) ในการส่งข้อมูล
- ยื่นแบบบันทึกข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้า ณ จุดบริการศุลกากร ส่วนบริการศุลกากร 1 ชั้น 1 อาคาร BC-1
2. รอตรวจสอบความถูกต้องและชำระภาษีอากร
เมื่อส่งข้อมูลเข้าระบบ e-Import แล้ว เมื่อระบบได้รับข้อมูลต่างๆ เช่น ข้อมูลบัญชีสินค้าสำหรับอากาศยาน (Air Cargo Manifest, AMAN) วันนำเข้าจริง (Actual Arrival Date) และใบตราส่งสินค้าทางอากาศยาน (Air Waybill, AWB) จากตัวแทนอากาศยานแล้ว ระบบจะทำการตรวจสอบข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้ากับแฟ้มข้อมูลอ้างอิง (Reference File) หากข้อมูลถูกต้อง ระบบจะทำการจับคู่กับบัญชีสินค้าสำหรับอากาศยาน เพื่อการตอบกลับเลขที่ใบขนสินค้าขาเข้า
หากข้อมูลถูกต้อง ระบบจะตอบกลับเลขที่ใบขนสินค้าขาเข้าให้กับผู้ที่ส่งข้อมูลโดยอัตโนมัติ (สถานะ 0109) หากพบว่าข้อมูลไม่ตรงกัน ระบบจะไม่ออกเลขที่ใบขนสินค้าขาเข้าให้ และจะตอบรหัสข้อผิดพลาดให้ผู้ส่งข้อมูลว่า “ยังไม่พบข้อมูลบัญชีสินค้า” ในกรณีนี้ ผู้นำเข้าจะต้องแก้ไขข้อมูลที่ถูกต้อง แล้วส่งข้อมูลกลับไประบบอีกครั้ง และชำระภาษีอากรและภาษีอื่นๆ ผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือติดต่อขอชำระที่ ฝ่ายบัญชีอากร ชั้น 2 อาคาร BC-1 ในเวลาราชการ หรือติดต่อ อาคารตรวจสินค้าขาออก (CE) นอกเวลาราชการ เมื่อชำระภาษีเรียบร้อยแล้ว ระบบจะทำการปรับสถานะใบขนสินค้าเป็น 0209
3. รอคำสั่งการตรวจ
เมื่อดำเนินการส่งข้อมูลและชำระภาษี ระบบจะมีคำสั่งการตรวจสินค้าแบบสุ่ม ซึ่งจะมีทั้งในกรณีที่โดนเปิดตรวจ และถูกยกเว้นการตรวจ
3.1 ในกรณีที่โดนเปิดตรวจ (สถานะ 0301)
ในกรณีที่โดนเปิดตรวจ ให้ผู้นำเข้าติดต่อคลังสินค้า TG หรือ BFS เพื่อเตรียมของให้ตรวจสอบ คลังสินค้าจะส่งข้อมูลมาให้ตรวจสอบ หลังจากนั้น ระบบจะกำหนดชื่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรผู้รับผิดชอบโดยอัตโนมัติ และผู้นำเข้าจะต้องจัดเตรียมเอกสารประกอบข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้า เช่น ใบตราส่งสินค้าทางอากาศยาน ใบกำกับสินค้า ใบอนุญาตหรือเอกสารประกอบการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร หรือเอกสารอื่นๆ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรตรวจสอบพิกัด ราคา และของ ตามหลักเกณฑ์
หากตรวจสอบพิกัด ราคา และของแล้วไม่พบความผิด เจ้าหน้าที่ศุลกากรจะบันทึกผลการตรวจในระบบ ซึ่งจะตอบกลับให้คลังสินค้าทราบถึงการตรวจปล่อยสินค้า และดำเนินการรับของกับคลังสินค้าต่อไป
3.2 ในกรณีที่ยกเว้นการตรวจ (สถานะ 0309)
ในกรณีที่ได้รับยกเว้นการตรวจ ระบบของศุลกากรจะทำการแจ้งผู้นำเข้าให้ทราบ และทำการส่งข้อมูลใบสั่งปล่อยให้กับทางคลังสินค้า
4. ผู้นำเข้าติดต่อคลังสินค้าเพื่อรับของ และนำของออกจากอารักขาศุลกากร
หากไม่มีปัญหาในการตรวจสินค้าแล้ว ผู้นำเข้าจึงจะสามารถติดต่อคลังสินค้าเพื่อทำการรับของ และคลังสินค้าจะส่งข้อมูลการส่งมอบให้ระบบของศุลกากรทำการอัปเดทวันที่ส่งมอบ และปรับสถานะเป็นส่งมอบแล้ว (สถานะ 0409) และผู้นำเข้าจึงจะสามารถนำของออกจากอารักขาศุลกากร และทำการขนส่งสินค้าไปยังปลายทางที่ต้องการ
การนำเข้าทางอากาศ เป็นช่องทางที่มีประสิทธิภาพสำหรับสินค้าที่ต้องการความรวดเร็วและปลอดภัยสูง ความเข้าใจใน พิธีการนำเข้าทางอากาศ และระบบ e-Import จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุนและหลีกเลี่ยงปัญหาระหว่างการนำเข้า การจัดเตรียมเอกสารที่ครบถ้วนและถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญในทุกขั้นตอนของการนำเข้า ซึ่งการมีพันธมิตรธุรกิจที่เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์ และอุปกรณ์ที่ทันสมัย อย่าง ชั้นวางพาเลท และ โฟล์คลิฟท์ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการสินค้าและตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้แม้ในสถานการณ์ที่มีความท้าทาย
บริษัท ยูพีอาร์ (ประเทศไทย) จำกัด จัดจำหน่ายพาเลทพลาสติกและพาเลทไม้สำหรับเช่า/ซื้อ ชั้นวางพาเลท อุปกรณ์จัดเก็บ ระบบจัดการพาเลท และอุปกรณ์โลจิสติกส์ครบครัน รวมไปถึงบริการโซลูชันด้านโลจิสติกส์ที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัย เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการและผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์
พวกเราพร้อมให้บริการที่รวดเร็ว ครอบคลุม และเป็นมืออาชีพด้วยประสบการณ์มากกว่า 10 ปี ในไทย
ติดต่อเรา
กรอกแบบฟอร์ม: www.upr-thailand.co.th/contact/inquiries/
โทร.: +66-2-672-5100
อีเมล: info-thailand@upr-net.co.jp
บริษัท ยูพีอาร์ (ประเทศไทย) จำกัด > คอลัมน์ > โลจิสติกส์ > การนำเข้าทางอากาศ ทำยังไง มีขั้นตอนอะไรบ้าง