การนำเข้าสินค้าทางบกมีขั้นตอนอย่างไร? กระบวนการสำคัญที่ผู้ประกอบการควรรู้
หัวข้อ
การ นำเข้า สินค้าทางบกเป็นหนึ่งในช่องทางที่ผู้ประกอบการนิยมใช้ในการนำสินค้าเข้าประเทศไทย โดยเฉพาะการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น จีน ลาว กัมพูชา และมาเลเซียผ่านบริการจากบริษัทโลจิสติกส์ ซึ่งมีสิ่งของและสินค้านำเข้ามามากมาย ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค วัตถุดิบการผลิต ไปจนถึงสินค้าอิเล็กทรอนิกส์
สำหรับผู้ที่กำลังเริ่มทำธุรกิจหรือมีแผนขยายธุรกิจให้ครอบคลุมสินค้านำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจแต่ละขั้นตอนในพิธีการการนำเข้าสินค้าเสียก่อน เพื่อช่วยให้การนำเข้าเป็นไปอย่างราบรื่น และมีประสิทธิภาพ
การเตรียมความพร้อมด้านคลังสินค้า
ก่อนเริ่มดำเนินการนำเข้า การจัดเตรียมคลังสินค้าให้พร้อมถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพราะแน่นอนว่าระบบจัดการพาเลทที่มีประสิทธิภาพจะช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานและเพิ่มความรวดเร็วในการรับสินค้านำเข้า จัดการสินค้า และนำส่งไปถึงมือลูกค้าอย่างราบรื่น ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งชั้นวางพาเลทที่ได้มาตรฐาน การจัดวางตำแหน่งและช่องทางเดินของโฟล์คลิฟท์ การวางระบบการติดตาม จัดเก็บ และเบิกจ่ายสินค้า ไปจนถึงการกำหนดพื้นที่จัดเก็บตามประเภทสินค้า
ขั้นตอนการนำเข้าสินค้าทางบก
สืบเนื่องจากพิธีการศุลกากรขาออกที่ผู้จำหน่าย (Shipper) หรือตัวแทนขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (Freight Forwarder) ที่ธุรกิจได้จัดจ้างไว้ จะทำการแจ้งรายละเอียดสินค้าต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากร ซึ่งข้อมูลจะถูกบันทึกลงในระบบของกรมศุลกากร โดยธุรกิจจำเป็นต้องดำเนินการตามพิธีการนำเข้าสินค้าต่อ ดังนี้
จัดเตรียมและยื่นเอกสารข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้า
ในการนำเข้าสินค้า ผู้นำเข้าหรือผู้รับผิดชอบจำเป็นต้องเตรียมเอกสารข้อมูลต่าง ๆ ให้ครบถ้วน เพื่อยื่นกับกรมศุลกากร ดังนี้
- รายงานยานพาหนะเข้าและยื่นบัญชีสินค้าทางบก (Car Manifest) ตามแบบ ศบ.1
- ใบตราส่งสินค้า
- บัญชีรายการสินค้าทุกรายการ
- บัญชีรายละเอียดการบรรจุหีบห่อ
- ใบอนุญาตนำเข้า หรือเอกสารตามกฎหมายกำหนด
- เอกสารอื่น ๆ เช่น เอกสารสำหรับผู้รับบรรทุก หรือผู้รับประกันภัยธนาคาร
โดยธุรกิจสามารถกรอกข้อมูลทั้งหมดเหล่านี้เข้าสู่ระบบของกรมศุลกากรผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการดำเนินการ ในกรณีที่ไม่สามารถส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ผู้นำเข้าสามารถกรอกรายละเอียดในรายงานยานพาหนะเข้าและบัญชีสินค้าทางบก (Car Manifest) ตามแบบ ศบ.1 ให้ครบถ้วน และยื่นแบบ ศบ.1 ต่อพนักงานศุลกากรประจำด่านพรมแดนเพื่อตรวจสอบและส่งข้อมูลเข้าระบบคอมพิวเตอร์ของกรมฯ ต่อไป
เจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้า
หลังจากที่กรมศุลกากรได้รับข้อมูลที่บันทึกในระบบ เจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบข้อมูลในใบขนส่งสินค้า ไม่ว่าจะเป็นชื่อ ที่อยู่ผู้นำเข้า เลขประจำตัวผู้เสียภาษี พิกัดอัตราศุลกากร และราคาของสินค้าที่นำเข้า เพื่อในกรณีเกิดข้อผิดพลาดหรือข้อมูลไม่ถูกต้อง เจ้าหน้าที่ศุลกากรจะแจ้งกลับมายังผู้นำเข้าเพื่อทำการแก้ไขข้อมูล หากข้อมูลทั้งหมดครบถ้วนถูกต้อง เจ้าหน้าที่จะออกเลขที่รับรายงานยานพาหนะ (Received Control Number) ให้กับผู้นำเข้า
ตรวจสอบพิสูจน์ตามเงื่อนไขชำระภาษีอากรขาเข้า
ขั้นตอนถัดมานี้เป็นความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ศุลกากร โดยเจ้าหน้าที่ต้องตรวจสอบรายละเอียดของสินค้าว่าเป็นไปตามเงื่อนไขที่กรมศุลกากรกำหนดเอาไว้ โดยมีการแบ่งสินค้าออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
- ใบขนสินค้าขาเข้าประเภทไม่ต้องตรวจสอบพิธีการ หรือ Green Line – สินค้าที่ได้รับการ “ยกเว้นการตรวจ” โดยผู้นำเข้าต้องนำใบขนสินค้าขาเข้าไปชำระภาษีอากรและสามารถวางประกันที่เกี่ยวข้อง พร้อมนำเข้าสินค้าไปเก็บยังคลังสินค้าหรือโกดังของธุรกิจได้ทันที
- ใบขนสินค้าขาเข้าประเภทที่ต้องตรวจสอบพิธีการ หรือ Red Line – สินค้าประเภทที่ต้อง “ให้เปิดตรวจ” โดยผู้นำเข้าจะต้องนำใบขนสินค้าขาเข้าไปติดต่อกับหน่วยงานประเมินอากร เพื่อตรวจสอบ และหากสินค้าถูกต้องตามกฎหมาย ก็จะสามารถเปลี่ยนเป็นสินค้าแบบ Green Line
- ใบขนสินค้าขาเข้าประเภทที่ได้รับการยกเว้นใบอนุญาต หรือ Yellow Line – สินค้าชนิดนี้จะได้รับการ “ยกเว้นใบอนุญาต” ทั้งนี้ ผู้นำเข้าต้องติดต่อเจ้าหน้าที่ เพื่อตรวจสอบเงื่อนไขของการได้รับยกเว้น ก่อนที่จะสามารถนำสินค้าออกจากอารักขาของศุลกากร
ในการชำระภาษีศุลกากร ผู้นำเข้าสามารถชำระภาษีได้ 3 วิธี คือ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ธนาคาร และชำระกับกรมศุลกากร
ตรวจสอบและปล่อยสินค้า
ขั้นตอนสุดท้าย คือ การตรวจสอบและปล่อยสินค้าออกจากอารักขาของศุลกากร โดยผู้นำเข้าต้องยื่นใบขนสินค้าที่ได้รับ พร้อมใบเสร็จรับเงินที่ชำระเรียบร้อยแล้วให้กับคลังสินค้า ซึ่งข้อมูลสินค้าก็จะถูกตรวจสอบอีกครั้ง หากตรวจสอบแล้วว่าเป็นสินค้าประเภท Green Line ทางเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรจะปล่อยสินค้าให้กับผู้นำเข้า โดยอาจเป็นการขนส่งด้วยรถบรรทุกขนาดใหญ่ไปยังคลังสินค้าของธุรกิจอีกที
สรุป กระบวนการนำเข้าทั้งหมดนี้อาจมีขั้นตอนที่ดูซับซ้อน มีขั้นตอนและรายละเอียดต่างๆ ที่ธุรกิจต้องดูแลจัดการ ทั้งนี้ผู้ประกอบการสามารถใช้บริการชิปปิ้งในการนำเข้าสินค้า เพื่อเป็นตัวแทนหลักในการติดต่อกับกรมศุลกากร อีกทั้งยังสามารถช่วยให้คำแนะนำเกี่ยวกับการกฎระเบียบการนำเข้า ประกอบกับสามารถติดตามสถานะของสินค้าตลอดกระบวนการขนส่งสินค้าได้อีกด้วย อำนวยความสะดวกให้แก่ธุรกิจ ช่วยประประหยัดเวลาและทรัพยากร พร้อมเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับธุรกิจอีกด้วย
สำหรับผู้ประกอบการที่มีคลังสินค้า โกดัง หรือกำลังวางแผนดำเนินการปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบภายในคลัง และกำลังมองหาพาเลทคุณภาพ สามารถติดต่อ บริษัท ยูพีอาร์ (ประเทศไทย) จำกัด เราจัดจำหน่ายทั้งพาเลทพลาสติกและพาเลทไม้สำหรับเช่า/ซื้อ ชั้นวางพาเลท อุปกรณ์จัดเก็บ และอุปกรณ์โลจิสติกส์ครบครัน รวมไปถึงบริการโซลูชันด้านโลจิสติกส์ที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัย เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการและผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์
พวกเราพร้อมให้บริการที่รวดเร็ว ครอบคลุม และเป็นมืออาชีพด้วยประสบการณ์มากกว่า 10 ปี ในไทย
ติดต่อเรา
กรอกแบบฟอร์ม: www.upr-thailand.co.th/contact/inquiries/
โทร.: +66-2-672-5100
อีเมล: info-thailand@upr-net.co.jp
บริษัท ยูพีอาร์ (ประเทศไทย) จำกัด > คอลัมน์ > สินค้าโลจิสติกส์ > การนำเข้าสินค้าทางบกมีขั้นตอนอย่างไร? กระบวนการสำคัญที่ผู้ประกอบการควรรู้